logo

 

ประวัติความเป็นมา

 

กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ

 

kingvi

พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 6 พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระผู้พระราชทานกำเนิดอนุศาสนาจารย์กองทัพไทย

          " อนุศาสนาจารย์ " เป็นคำเรียกชื่อนายทหารผู้ปฏิบัติงานด้านศาสนาในกองทัพ ตามพระราชานุมัติของ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 6 พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานกำเนิด กิจการอนุศาสนาจารย์ขึ้นในกองทัพไทย เมื่อ วันที่ 29 มิถุนายน ปีพุทธศักราช 2461 โดยทรงตระ หนักถึงความ จำเป็นทีต้องมีอนุศาสนาจารย์ ติดตามกองทหาร อาสาไปช่วยราชสัมพันธมิตรในงานพระราชสงคราม ทั้งนี้เพื่อทำหน้าที่ปลุกใจทหาร เป็นที่พึ่งทางใจและนำปฏิบัติศาสนกิจแก่ทหาร ตามพระราชปรารภ ความตอนหนึ่งว่า

           " …… ทหารที่ออกจากบ้านเมืองไปคราวนี้ ต้องอยู่ถิ่นไกล ไม่ได้พบเห็นพระเหมือนอยู่ในบ้านเมืองตน จิตใจจะเหินห่างจากธรรม ถึงยามคึกคะนองก็จะฮึกเหิมเกินไป ถึงคราวทุกข์ร้อนก็อาดูรระส่ำระสาย ไม่มีใครคอยช่วย ปลดเปลื้องบันเทาให้ ถ้ามีอนุศาสนาจารย์ออกไปจะได้คอยพร่ำสอน และปลอบโยนปลดเปลื้องในยามทุกข์ " โดยมีอำมาตย์ตรี พระธรรมนิเทศทวยหาญ ( อยู่ อุดมศิลป์ ) เป็นปฐมอนุศาสนาจารย์ 

prathamnites

อำมาตย์ตรี พระธรรมนิเทศทวยหาญ
ปฐมอนุศาสนาจารย์

        กิจการอนุศาสนาจารย์ กองทัพอากาศมีเคียงคู่กันมาโดยตลอด ถือกำเนิดขึ้น เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 โดยมีคำสั่งทหาร ที่ 98 / 5810 ลง 6 กรกฎาคม 2481 เรื่อง คำสั่งย้ายขุนเวียรวีรธรรม (เวียร  พูลสวัสดิ์ )จากกรมยุทธศึกษาทหารบก มารับราชการในกองทัพอากาศ จึงนับเป็นอนุศาสนาจารย์ ทอ . คนแรก ต่อมากิจการด้านอนุศาสนาจารย์ได้มีวิวัฒนาการเจริญมาโดยลำดับนับแต่มีฐานะเป็นกรมอากาศยานจวบจนปัจจุบัน

kunvienveeratum

รองอำมาตย์โท ขุนเวียรวีรธรรม
ปฐมอนุศาสนาจารย์ ทอ.

         กิจการด้านอนุศาสนาจารย์ เป็นหน่วยงานระดับกองขึ้นอยู่กับกรมยุทธศึกษาทหารอากาศมีภารกิจโดยรวม คือ ทำหน้าที่อบรมศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรม ตลอดจนนำปฏิบัติด้านศาสนกิจและพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นที่ปรึกษาสวัสดิภาพทางใจ ให้กับกำลังพลและครอบครัวชาวกองทัพอากาศ และบุคคลทั่วไป โดยผู้ทำหน้าที่ อนุศาสนาจารย์ ต้องมีคุณสมบัติคือ เคยบวชเรียนในพระพุทธศาสนา จบการศึกษาเปรียญธรรม 9 ประโยคและสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยสงฆ์ คือ มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ในกรณีที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี จะต้องเป็นเปรียญธรรมไม่ต่ำกว่า 4 ประโยค หรือสูงกว่า ทั้งนี้ต้องเป็นบุคคลผู้มีความประพฤติเรียบร้อย ดีงาม อยู่ในศีลในธรรม เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป